กฏหมายยิงปืนป้องกันตัว

มีปืนแล้วยิงคนตาย แบบไม่มีความผิดเลย ก็คือยิงเพื่อป้องกันสิทธิของตนเองหรือผู้อื่น ให้พ้นจากภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายและเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง ถ้าได้กระทำไปพอสมควรแก่เหตุ การกระทำนั้นเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ผู้นั้นไม่มีความผิด ตามความในประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๖๘ จึงขออนุญาตท่าน วมต. ลงข้อความทางกฎหมายเพื่ออธิบายรายละเอียดของการป้องกันตัวให้สมาชิกได้ทราบเป็นความรู้ครับเพราะเป็นสิ่งสำคัญกับคนมีปืน ที่จะต้องรู้ และนำเอาไปใช้ปฏิบัติให้ถูกต้อง

หลักเกณฑ์ของการป้องกันตัวโดยชอบด้วยกฎหมาย ( มี ๔ ข้อ ) คือ

๑. มีภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย เช่น มีคนมาปล้น มาจะฆ่า จะทำร้าย เป็นต้นระวัง หากเขามีสิทธิทำร้ายเราได้ เช่นพ่อมีสิทธิว่ากล่าว / ตีลูก เมื่อเราทำผิดบิดามารดาลงโทษเรา /ตีเรา ไม่ถือเป็นภยันตรายตามข้อ ๑ นี้ เราตอบโต้แล้วอ้างป้องกันไม่ได้ มีฎีกา ที่ ๔๒๙/๒๕๐๕ ว่าพระตีลูกศิษย์ ลูกศิษย์ตอบโต้ ฆ่าพระ ไม่ถือว่าเป็นป้องกันตัว กรณีเห็นเมียกำลังนอนกอดกับชายชู้ ถือเป็นภยันตรายที่มาละเมิดตามข้อ ๑ แล้วแต่ก็แยกว่า ถ้าภริยาจดทะเบียนสมรสกับเรา เราฆ่าชู้ ถือว่าเป็นการป้องกัน ( ฏีกาที่๓๗๘/๒๔๗๙ )แต่ถ้าภริยาไม่ได้จดทะเบียน ไม่ถือว่าเป็นการป้องกัน แต่อ้างบันดาลโทสะตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๗๒ เพื่อให้ศาลลงโทษน้อยลงได้ ( ฎีกาที่ ๒๔๙/๒๕๑๕ )แม้จะมีภยันตรายตามข้อ ๑ แล้วก็ตาม แต่ผู้ที่จะอ้างป้องกันได้ จะต้องไม่มีส่วนผิดในการก่อให้เกิดภยันตรายดังกล่าวขึ้นด้วย คือ
– ไม่เป็นผู้ที่ก่อภัยขึ้นในตอนแรกเช่น ฎีกาที่ ๒๕๑๔/ ๒๕๑๙ จำเลยชกต่อยก่อน แล้ววิ่งหนี เขาไล่ตามต่อเนื่องไม่ขาดตอน จำเลยยิงเขาตาย
อ้างป้องกันไม่ได้
– ไม่เป็นผู้ที่สมัครใจเข้าวิวาทกันเช่น ฎีกาที่ ๒๓๒๒/๒๕๒๒ จำเลยโต้เถียงกันคนตาย แล้วก็ท้าทายกัน สมัครใจเข้าชกต่อยต่อสู้กัน แม้คนตาย
จะยิงก่อน แล้วจำเลยยิงสวนก็อ้างป้องกันไม่ได้
– ไม่เป็นผู้ที่ยินยอมให้ผู้อืนกระทำต่อตนโดยสมัครใจเช่น ให้เขาลองของคุณไสย์ คงกระพัน แล้วจะไปโกรธตอบโต้ภายหลังอ้างป้องกันไม่ได้
– ไม่เป็นผู้ที่ไปยั่วให้คนอื่นเขาโกรธก่อนเช่นไปร้องด่าพ่อแม่ ด่าหยาบคายกับเขาก่อน พอเขาโกรธมาทำร้ายเราเราก็ตอบโต้
เราอ้างป้องกันไม่ได้

๒. เป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง เช่น เขากำลังจะยิงเรา เราจึงต้องยิงสวน
ฎีกาที่ ๒๒๘๕ / ๒๕๒๘ จำเลยกับคนตายคุยตกลงกันเรื่องแบ่งวัว จำเลยชวนให้ไปคุยตกลงกันที่บ้านกำนัน คนตายไม่ยอมไป กลับชักปืนออกมาจากเอวจำเลยย่อมเข้าใจว่าจะยิงตน จึงยิงสวน ๑ นัด ถือเป็นการป้องกัน
ฎีกาที่ ๑๗๓๒ /๒๕๐๙ คนตายชักมีดพกจากเอวมาถือไว้ แล้วเดินเข้ามาหาจำเลยระยะกระชั้นชิด จำเลยยิงสวน ๑ ที คนตายยังเดินต่อเข้ามาอีก จึงยิงสวน อีก ๑ ทีล้มลงตาย เป็นการป้องกันตัวที่สมควรแก่เหตุ
ฎีกาที่ ๑๗๔๑/ ๒๕๐๙ คนตายจับมือถือแขนคู่หมั้นจำเลย พอจำเลยมาเห็นคนตายก้มหยิบมีดพร้าที่วางใกล้ๆ ยาว ๑๒ นิ้ว ด้ามยาวอีก ๑๒ นิ้ว แสดงว่าคนตายจะทำร้ายทันทีเมื่อหยิบมีดได้ จำเลยใช้มีดฟันตนตายไป ๑ ที ถือเป็นการป้องกันพอแก่เหตุ
ฎีกาที่๑๖๙ / ๒๕๐๔ คนตายเมาสุราร้องท้าทายจำเลยให้มาต่อสู้กันจำเลยไม่สู้ คนตายถือมีดดาบปลายแหลมลุยน้ำข้ามคลอง จะเข้าไปฟันจำเลยถึงในบ้าน จำเลยไม่หนีเพราะบ้านตัวเอง และใช้ปืนยิงสวนไป ๑ นัดขณะที่คนตายอยู่ห่าง ๖ ศอกถึง ๒ วา เป็นป้องกันพอสมควรแก่เหตุ
ฎีกานี้วางหลักว่า ผู้รับภัยไม่จำเป็นต้องหลบหนีภยันตราย ก็อ้างป้องกันได้

๓. ผู้กระทำจำต้องกระทำเพื่อป้องกันสิทธิของตนเองหรือผู้อื่น ให้พ้นภยันตรายนั้น ข้อนี้ตามที่อธิบายข้างต้นไปแล้ว

๔. ต้องเป็นการกระทำป้องกันสิทธิที่ไม่เกินขอบเขต ไม่งั้นจะเป็นการป้องกันที่เกินสมควรกว่าเหตุ หรือเกินกว่ากรณีแห่งการจำต้องกระทำเพื่อป้องกัน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๖๙ ไปซึ่งจะทำให้ยังมีความผิดอยู่

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

แบบไหนไม่เกินกว่าเหตุ ยากมากครับ ต้องแล้วแต่พฤติการณ์แห่งคดีที่เกิดขึ้น

ฎีกาที่ ๘๒๒ / ๒๕๑๐ คนตายเป็นฝ่ายก่อเหตุก่อน จะเข้ามาชกต่อยทำร้ายจำเลยจำเลยจึงเอาปืนยิงลงพื้นดินไป ๑ นัด เพื่อขู่ให้คนตายกลัว แต่คนตายไม่หยุดกลับเข้ามากอดปล้ำใช้แขนรัดคอแล้วแย่งปืนจำเลย จำเลยจึงยิงขณะชุลมุนนั้นไป ๑ นัด ตาย เป็นป้องกันที่พอสมควรแก่เหตุ ไม่มีความผิด
ฎีกาที่ ๙๔๓ /๒๕๐๘ คนร้ายจูงกระบือออกจากใต้ถุนบ้านแล้ว มีปืนลูกซองมาด้วยจำเลยร้องถามแล้ว คนร้ายหันปืนมาทางจำเลยจำเลยยิงสวนทันที ศาลฎีกาบอกว่าคนร้ายหันปืนมาแล้วอาจยิงได้ และถ้าจำเลยไม่ยิง คนร้ายก็อาจเอากระบือไปได้ เป็นป้องกันที่พอสมควรแก่เหตุ
ฎีกาที่ ๑๒๕๖ /๒๕๓๐ คนตายบุกรุกเข้าไปฉุดลูกสาวในบ้านจำเลยเมื่อมารดาเด็กเข้าห้ามถูกคนร้ายตบหน้า แล้วจะฉุดพาลูกสาวออกบ้านจำเลยยิงไปทันที ๔ นัด เป็นป้องกันที่พอสมควรแก่เหตุ
ฎีกาที่ ๖๐๖ / ๒๕๑๐ คนตายเข้ามาชกจำเลย จำเลยล้มลง คนตายเงื้อมีดจะเข้าไปแทง จำเลยยิงสวน ถือเป็นการป้องกันพอสมควรแก่เหตุเทียบกับ
ฎีกาที่ ๒๗๑๗/ ๒๕๒๘ คนตายยืนถือมีดอยู่ห่าง ๒ วา ยังไม่อยู่ในลักษณะพร้อมที่จะฟันทำร้ายจำเลย การที่จำเลยด่วนยิงคนตายไปก่อนเป็นป้องกันจริง แต่เกินสมควรแก่เหตุ
ฎีกาที่ ๔๕๔๔ / ๒๕๓๑ คนตายบุรุกเข้าไปในบ้านจำเลยยามวิกาลเมื่อจำเลยได้ยินเสียงผิดปกติ คว้าปืนลงมาดู คนตายยิงทันทีจำเลยยิงสวน เป็นป้องกันพอสมควรแก่เหตุ
ฎีกาที่ ๑๘๒ / ๒๕๓๒ ก.ถือไม้ไปที่บ้านจำเลย ร้องท้าทายให้จำเลยมาสู้กัน ก.เดินเข้าหาจำเลย จำเลยตกใจกลัวว่า ก. จะเข้ามาเอาไม้ตีทำร้าย จึงวิ่งไปเอาปืนแล้วเล็งยิงไปที่ขา ก. รวม ๓ นัด เมื่อรู้ว่ากระสุนถูกที่ขา ก. จำนวน ๑ นัดจำเลยก็ไม่ยิงซ้ำ เป็นป้องกันที่พอสมควรแก่เหตุคราวนี้มาดูกรณีที่ถือว่าเกินสมควรกว่าเหตุ
ฎีกาที่ ๒๙๘๓ / ๒๕๓๑ คนตายขับมอเตอร์ไซด์กลับบ้าน พบจำเลยระหว่างทางจำเลยพูดทวงหนี้คนตาย คนตายโกรธเคืองต่อว่าจำเลย พร้อมเดินเข้าไปหาจำเลยด้วยมือเปล่าเพื่อจะทำร้าย ระยะห่างประมาณ ๑ วา จำเลยใช้ปืนยิง ๑ นัดเป็นป้องกันตัวจากการจะถูกทำร้าย แต่เกินกว่าเหตุเพราะคนตายมือเปล่า
ฎีกาที่ ๖๔ / ๒๕๑๕ ก.และ ข.มือเปล่าไม่มีอาวุธ เข้ารุมชกต่อยจำเลยจำเลยใช้ปืนยิง ในระยะติดพันกันนั้นรวม ๓-๔-๕ นัด จน ก. ตาย เป็นป้องกันจริง แต่เกินกว่าเหตุฎีกาที่ ๔๐๕ / ๒๔๙๐ จำเลยเฝ้าไร่พืชผัก คนตายเข้าไปในไร่ เวลากลางวันเพื่อจะลักพืชผัก จำเลยจึงใช้ปืนยิงคนตาย เป็นป้องกันจริง แต่เกินกว่าเหตุ
ฎีกาที่ ๑๓๔๓ / ๒๔๙๕ ยิงคนร้ายขณะกำลังวิ่งหนีและพาเอาห่อของที่ลักขโมยไปด้วยโดยคนร้ายไม่ได้ทำอะไรแก่ตนเลยถือเป็นการป้องกัน แต่เกินสมควรแก่เหตุมาก
ฎีกาที่ ๒๙๔ /๒๕๐๐ ยิงคนร้ายที่จูงกระบือในเวลากลางคืน ตรงนั้นมืดมากโดยคนร้ายไม่ได้แสดงกริยาต่อสู้ เป็นป้องกันที่เกินสมควรกว่าเหตุฎีกาที่ ๒๗๑๗ / ๒๕๒๘ คนตายเข้ามาลักลอบตัดข้าวโพดในไร่จำเลยในตอนกลางคืน โดยคนร้ายเอามีดมาด้วย แต่ขณะที่จำเลยมาเห็น คนตายยืนถือมีดห่างประมาณ ๒ วา ยังไม่อยู่ในลักษณะพร้อมที่จะฟันทำร้าย จำเลยด่วนยิงจึงเป็นการป้องกันที่เกินกว่าเหตุ
ฎีกาที่ ๑๘๙๕ / ๒๕๒๖ คนตายเมาสุรา เดินถือปืนตรงเข้าไปหาบิดาจำเลยพูดทำนองจะฆ่าบิดา จำเลยจึงสกัดกั้นยิงคนตายไปก่อน ๑ นัด แล้วกระโดดเข้าแย่งปืนคนตายมาได้ แต่กลับเอาปืนคนตายนั้นมายิงคนตายซ้ำอีก ๓ นัดจึงเกินกว่าเหตุ
ฎีกาที่ ๖๒๐ / ๒๕๓๒ คนตายถือมีดทำครัวบุกรุกเข้าไปในห้องจำเลยจะทำร้ายแต่การที่จำเลยใช้ปืนยิงคนตายถึง ๕ นัด เป็นการเกินกว่าเหตุครับเป็นเกร็ดความรู้ทางกฎหมายเล็กๆน้อยๆ ที่นำมาฝากกันครับ .

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ใครที่ชอบย่องเข้าบ้านคนอื่นตอนดึกๆระวังให้ดี

ฎีกาที่ .๓๘๖๙ / ๒๕๔๖ คนตายปีนเข้าบ้านจำเลยตอนกลางคืนโดยไม่ทราบสาเหตุที่ปีนเข้ามา เมื่อจำเลยตื่นมาเห็นย่อมทำให้สำคัญผิดว่าคนตายเป็นคนร้ายและในขณะนั้นจำเลยย่อมไม่อาจรู้ได้ว่าคนตายจะมีอาวุธหรือไม่ เพราะในห้องที่เกิดเหตุมืดมาก และเป็นเวลากระทันหัน หากจำเลยจะรอให้คนร้ายแสดงกริยาแล้วก็อาจจะถูกทำร้ายได้ การที่จำเลยใช้ปืนยิงไปเพียง ๑ นัด คนตายร้องและล้มลง และจำเลยมิได้ยิงซ้ำแต่อย่างใด จึงเป็นการป้องกันที่พอสมควรแก่เหตุ

ส่วนพวกที่ชอบรุมกินโต๊ะ ( สุนัขหมู่ ) ก็ระวังให้ดี

ฎีกาที่ ๖๐๗๗/๒๕๔๖ ขณะเกิดเหตุเป็นเวลากลางคืนดึกมากแล้ว จำเลยคนเดียวเข้าไประงับเหตุไม่ให้กลุ่มคนตายเป็นชาย ๓ คน ดื่มสุราและร้องเพลงส่งเสียงดังภายในเขตวัด แล้วเกิดโต้เถียงกัน จำเลยถูกชาย ๓ คนรุมทำร้ายอย่างต่อเนื่องโดยไม่มีโอกาสตอบโต้คืน และไม่อาจรู้ได้ว้าพวก ๓ คนมีอาวุธใดมาด้วยหรือไม่จำเลยชักปืนที่พกมาด้วยยิงไปเพียง ๑ นัด ถูกคนตาย ถือว่าป้องกันพอสมควรแก่เหตุไม่มีความผิด
ฎีกาที่ ๑๓๙๖ / ๒๕๑๔ ก.ใช้จอบตีทำร้ายจำเลยโดยจำเลยไม่ได้เป็นคนก่อเหตุก่อนถูกที่เหนือข้อศอกซึ่งยกขึ้นรับไว้ได้ จากนั้น ก.ยังใช้จอบฟันซ้ำอีก ๒ ที ถูกที่เหนือเข่าจนจำเลยล้มลง แล้วยังมีพวกของ ก. อีก ๒ คนถือขวานและมีดวิ่งเข้ามาด้วยกริยาแสดงให้เห็นว่าจะมาช่วย ก. เล่นงานจำเลยให้อยู่ จำเลยจึงใช้ปืนลูกซองสั้นยิงไป ๑ นัดในทันทีนั้นเอง เป็นการป้องกันตัวพอสมควรแก่เหตุ ไม่มีความผิด

พวกที่ชอบแกล้ง ชอบขู่คนอื่น ชอบหยอกล้อคนอื่นก็ต้องระวัง

ฎีกาที่ ๕๗๕๘ / ๒๕๓๗ คนตายกับพวกถือสิ่งของคล้ายอาวุธปืน ( ไม่ใช่ปืน )เดินเข้ามาหาจำเลยในเขตนากุ้งของจำเลยในเวลาค่ำคืน จำเลยร้องห้ามให้วางสิ่งของดังกล่าวแล้ว แต่คนตายกับพวกกลับจู่โจมเข้ามาใกล้ประมาณ๒ – ๓ เมตร ย่อมมีเหตุให้จำเลยอยู่ในภาวะเข้าใจได้ว่าคนตายกับพวกจะเข้ามาทำร้ายและถือได้ว่าเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง การที่จำเลยใช้ปืนยิงไปทางคนตายกับพวก จึงเป็นการป้องกันที่พอสมควรแก่เหตุแล้ว ไม่มีความผิดระวังเรื่อง หากภัยอันตรายมันผ่านพ้นไปแล้วด้วย
ฎีกาที่ ๔๕๔ / ๒๕๓๗ เริ่มแรกคนตายยกปืนเล็งมาทางจำเลยจำเลยไม่มีปืน จึงเข้าแย่งปืนกับคนตาย ปืนลั่น ๑ นัดแล้วปืนหลุดจากมือคนตาย การที่จำเลยยังไปเอามีดอีโต้มาฟันคนตายในขณะนั้นอีก ไม่เป็นการป้องกัน เพราะภยันตรายที่จำเลยจะถูกปืนยิงมันผ่านพ้นไปแล้ว จำเลยไม่มีภัยที่จะต้องป้องกันอีก การที่จำเลยยังใช้มีดฟันคนตายอีก เป็นความผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา แต่เป็นการกระทำโดยบันดาลโทสะตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๒ ศาลใช้ดุลพินิจลงโทษมากน้อยเพียงใดก็ได้
ฎีกาที่ ๑๐๔๘ – ๑๐๔๙ / ๒๕๑๔ จำเลยเป็นตำรวจออกตรวจท้องที่พบผู้ตายกับพวกหลายคนถือไม้และท่อนเหล็ก จับกลุ่มกันอยู่ในยามวิกาล จึงเข้าไปสอบถามผู้ตายกับพวกกลับรุมทำร้ายตัวจำเลยจนศรีษะแตกล้มลง จำเลยชักปืนออกมาผู้ตายกับพวกเห็นดังนั้นก็พากันวิ่งหนี จำเลยจึงยิงไปทางพวกผู้ตายกระสุนปืนถูกผู้ตายทางด้านหลังถึงแก่ความตายการกระทำของจำเลยไม่เป็นป้องกัน เพราะภยันตรายที่เกิดแก่จำเลยได้ผ่านพ้นไปแล้ว แต่เป็นการกระทำผิดโดยบันดาลโทสะตาม ปอ.มาตรา ๗๒ฎีกาที่ ๑๐๑๑ / ๒๕๓๓ ก. เข้าไปชกต่อยจำเลย ๒ ที แล้วก็ออกมา ไม่ปรากฎว่าจะมีการจะไปทำร้ายต่ออีก ภยันตรายที่จะป้องกันจึงผ่านพ้นไปแล้ว การที่จำเลยเอามีดไปแทง ก. หลังถูกชกต่อยเลิกแยกกันไปแล้ว จึงไม่เป็นป้องกันตาม มาตรา ๖๘ แต่เป็นการกระทำผิดโดยบันดาลโทสะ ตาม มาตรา ๗๒

หากมีคนมาตะโกนร้องท้าทายเรา ต้องระวังใจตนเองครับ

ฎีกาที่ ๓๐๘๙ / ๒๕๔๑ เมื่อ ก. ไปร้องท้าทายจำเลยว่า ( มึงออกมาต่อยกับกูตัวต่อตัวถ้าแน่จริง ) แม้จำเลยไม่มีหน้าที่จะต้องหลบหนีก็ตาม แต่หากจำเลยไม่สมัครใจที่จะวิวาทหรือต่อสู้กับ ก. แล้ว จำเลยก็ชอบที่จะไม่ตอบโต้หรือออกไปพบ ก. ก็ได้ / แต่จำเลยกลับออกไปพบ ก. โดยพกปืนติดตัวไปด้วยแสดงว่าจำเลยสมัครใจเข้าวิวาทและต่อสู้กับ ก. และเข้าสู่ภัยโดยไม่มีกฎหมายให้อำนาจ แม้ ก. จะชักมีดออกมาจ้วงแทงจำเลยก็เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะวิวาทกัน จำเลยใช้ปืนยิงหรือใช้ไม้ตีตอบโต้ก็ไม่อาจอ้างป้องกันตัวโดยชอบด้วยกฎหมายได้

เปรียบเทียบ กับ ๓ เรื่องข้างล่างนี้

ฎีกาที่ ๑๐๖ / ๒๕๐๔ ผู้ตายเมาสุราร้องท้าทายจำเลยให้มาสู้กันแต่จำเลยไม่สู้ ผู้ตายก็ถือดาบปลายแหลมลุยน้ำข้ามคลองจะเข้าไปฟันจำเลยถึงในบ้าน แม้จำเลยจะเห็นผู้ตายอยู่ก่อนและอาจหลบหนีไปได้ แต่ก็ไม่มีความจำเป็นที่ผู้มีสิทธิครอบครองเคหสถานของตนจะต้องหนีผู้กระทำผิดกฎหมาย ดังนั้นการที่จำเลยใช้ปืนยิงผู้ตาย๑ นัดขณะผู้ตายอยู่ห่าจากโรงจำเลย ๖ ศอกถึง ๒ วานั้น ถือว่าเป็นการกระทำเพื่อป้องกันชีวิตพอสมควรแก่เหตุตาม มาตรา ๖๘ แล้ว จำเลยจึงไม่มีความผิด
ฎีกาที่ ๑๘๒ / ๒๕๓๒ ก. ถือไม้เป็นอาวุธไปที่บ้านจำเลยและร้องท้าทายให้จำเลยออกมาตีกันจำเลยไม่ออกไปตามคำท้า ก.จึงเดินเข้ามาหาจำเลย จำเลยตกใจกลัวว่า ก. จะเข้ามาทำร้าย จึงวิ่งไปเอาปืนสั้นของสามีที่เก็บไว้ที่หัวนอนมาแล้วยิงไปที่ขา ก. รวม ๓ นัด เมื่อกระสุนถูกขา ก.๑ นัด จำเลยไม่ยิงต่อ การยิงของจำเลยดังกล่าวเพียงเพื่อยับยั้งไม่ให้ ก. เข้ามาทำร้ายจำเลยในบ้านเท่านั้น เป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายและพอสมควรแก่เหตุ ไม่มีความผิด
ฎีกาที่ ๑๑๓๖ /๒๕๒๙ ก. กับพวกกำลังดื่มสุราอยู่ในซอย เห็นจำเลยเดินมาหาว่าจำเลยถอดเสื้ออวดรอยสักได้เรียกจำเลยเข้าไปถามและช่วยกันรุมทำร้าย จำเลยวิ่งหนีมาถึง ๓ แยก หนีต่อไปไม่ทัน จึงได้หันกลับไปแล้วยกปืนขึ้นมาจ้องขู่ ก. ว่าอย่าเข้ามาถ้าเข้ามาจะยิง แต่ ก. ก็ไม่เชื่อ ยังทำท่าจะวิ่งเข้ามาทำร้ายจำเลยอีก จำเลยจึงใช้ปืนยิง ก.๑ นัด เป็นการป้องกันตัวโดยสมควรแก่เหตุ ไม่มีความผิด ครับ เริ่มเห็นข้อแตกต่างกันแล้ว ใช่ไหมครับดังนั้นจึงต้องระวังใจตนเอง ควบคุมให้ดีครับ ..เมื่อเห็นคนอื่นกำลังตกอยู่ในอันตรายอย่านิ่งดูดายนะครับความจริงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๖๘ เรื่องป้องกันก็สามารถป้องกันสิทธิของคนอื่นที่กำลังจะได้รับภยันตรายได้ด้วย ไม่เฉพาะแต่เรื่องของตัวเองแต่อย่างใดหากเราพบคนอื่นกำลังตกอยู่ในภยันตราย ถือได้ว่าเราพบความผิดซึ่งหน้า เกิดขึ้นแล้ว ราษฎรอย่างเราก็มีสิทธิเข้าช่วยเหลือโดยอ้างสิทธิผู้อื่นตาม มาตรา ๖๘ นี้ก็ได้ หรือจะเข้าไปช่วยโดยอ้างว่าพบความผิดซึ่งหน้าแล้วเข้าจับกุมตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๗๙ มาตรา ๘๐ และมาตรา ๘๓ ก็ได้มี
ฎีกา ที่ ๒๓๕๓ / ๒๕๓๐ วินิจฉัยว่า กรณีที่มิใช่ความผิดซึ่งหน้า ราษฎรไม่มีอำนาจ

ตามกฎหมายที่จะจับกุมผู้กระทำความผิดได้ เมื่อแปลความกลับก็จะได้ความว่า หากเป็นความผิดซึ่งหน้าแล้ว ราษฎรเข้าจับกุมได้ ก็ตาม มาตรา ๗๙ / ๘๐ / ๘๓ นี่แหละ และการเข้าไปจับกุมดังกล่าวก็ไม่ต้องแจ้งข้อหาให้คนร้ายทราบก่อนด้วยก็ได้
( ตามฎีกาที่ ๕๑๒/ ๒๔๘๐ และที่ ๓๑๙ – ๓๒๐ / ๒๕๒๑ ) และเมื่อเข้าไปจะจับกุมคนร้ายแล้ว หากคนร้ายขัดขืน เช่นว่า ชักปืนจะยิงสู้เราก็ยิงโต้ตอบคนร้ายได้โดยอ้างป้องกันตาม มาตรา ๖๘ ได้อีก เพราะตาม มาตรา ๘๓ วรรคท้าย ให้อำนาจราษฎรที่เข้าไปจับคนร้ายที่ทำผิดซึ่งหน้า

สามารถใช้วิธีตอบโต้คนร้ายได้ตามสัดส่วนของภัยนั้นๆ ลองๆดูคำพิพากษาฎีกาที่ ๘๕๓๔ / ๒๕๔๔ กลุ่มวัยรุ่นกำลังรุมทำร้าย ถ.จำเลยไปเจอ จึงได้ใช้อาวุธปืนที่มียิงขึ้นฟ้าเพื่อขู่มิให้กลุ่มวัยรุ่นกลุ้มรุมทำร้าย ถ.เมื่อจำเลยยิงขึ้นฟ้านัดที่ ๓ แล้ว ได้มีกลุ่มวัยรุ่นเข้ามาทุบที่ด้านหลังของจำเลยจนเป็นเหตุให้จำเลยล้มลงและกระสุนจากปืนของจำเลยได้ลั่นไปถูกคนตายเป็นการป้องกันที่พอสมควรแก่เหตุ จำเลยไม่มีความผิด

ฝากไว้ว่า อย่านิ่งดูดายนะครับ เพราะความจริงมีกฎหมายเขาคุ้มครอง

พลเมืองดีอย่างเราๆอยู่ครับ ไม่ต้องไปกังวลเรื่องกฎหมายครับ ….

ต้องมีข้อเท็จจริงอื่นประกอบด้วยครับ ไม่งั้นก็ตอบยากเหมือนกัน

โจรเข้าบ้าน ๕ คน เข้าบ้านเวลากลางวันหรือกลางคืน

พฤติกรรม อากัปกริยาของโจรเป็นอย่างไรบ้าง

สมมุติว่ามาตอนกลางคืนดึกๆ มีปืนครบมือ เจ้าของบ้านอาจอ้างเหตุที่ต้องยิงแบบคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๓๘๖๙ / ๒๕๔๖ ข้างต้นได้ครับ
แต่หากมาแล้ว พอเจ้าของบ้านมาเห็น คนร้ายทุกคนที่ว่ามีปืนครบมือ ทุกคนต่างหันหลังวิ่งหนีเจ้าของบ้านกันหมด อย่างนี้ถ้าเจ้าของบ้านยังยิงอีกก็อาจตามแนวฎีกาที่ลงเอาไว้ข้างต้นได้ครับ ว่าภยันตรายที่จะเกิดกับเจ้าของบ้าน มันผ่านพ้นไปแล้ว เพราะคนร้ายหนีหมดแล้วเป็นป้องกัน แต่เกินกว่าเหตุได้ครับ ยิ่งถ้าเข้ามาตอนกลางวัน ก็ยิ่งเห็นอากัปกริยาของคนร้ายได้ชัดเจนขึ้นหากคนร้ายเห็นเจ้าของบ้านแล้วหันปืนมา จ้องปืนมา อย่างนี้ยิงได้เลยแต่ถ้าเห็นแล้ววิ่งหนีเจ้าของบ้าน หากยังยิงก็อาจเกินกว่าเหตุตามหลักเดิมครับ เมื่อเจอคนร้ายกำลังกระทำความผิดซึ่งหน้า ราษฎรอย่างเราๆก็อาศัย อำนาจตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๗๙ มาตรา ๘๐ และ มาตรา ๘๓ เข้าไปจับกุมได้เลยครับ
โดยไม่ถือเป็นความผิดอะไร เมื่อถูกคนร้ายเข้าขัดขวางการจับกุมก็อาศัยอำนาจตามความ ใน มาตรา ๘๓ วรรคท้าย ที่บัญัติว่า
( ถ้าบุคคลซึ่งจะถูกจับ ขัดขวาง หรือจะขัดขวางการจับกุมหรือหลบหนี หรือพยายามจะหลบหนี ผู้ทำการจับมีอำนาจใช้วิธีหรือความป้องกันทั้งหลายเท่าที่เหมาะแก่พฤติการณ์แห่งเรื่องในการจับผู้นั้น )อาศัยอำนาจตามข้อความวรรคท้ายของมาตรานี้ มาป้องกัน / ตอบโต้
การต่อสู้หรือขัดขวางการจับกุม ของคนร้ายได้เลยครับ ดังนั้น ก็กลับมาสู่หลักเดิม คือเรื่องการป้องกันตัวตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา ๖๘ ได้อีก ว่า คนร้ายทำท่าจะยิงเรา เราก็ยิงสวนป้องกันตัวได้ ตามหลักในแนวคำพิพากษาศาลฎีกาข้างต้นครับ ถือเป็นภยันตราย
ที่ใกล้จะถึงที่จะเกิดกับผู้จะเข้าจับกุมอย่างเรา ที่เข้าจับกุมโดยอาศัยกฎหมายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๘๓ นั่นเอง
เมื่อคนร้ายเกิดตาย เราก็อ้างได้ว่ามีสิทธิเข้าจับได้ / เข้าช่วยเหลือได้ และอ้างสิทธิป้องกันตัวได้ด้วย ไงครับ ผลคือไม่มีความผิดฐานฆ่าคนตาย / พยายามฆ่า / ทำร้ายร่างกาย ส่วนข้อหาพกพาปืนโดยไม่มีใบพก ก็จะตกไป เพราะถือว่าในกรณีนี้ มีเหตุจำเป็นเร่งด่วนตามควรแก่พฤติการณ์ ที่จะต้องใช้ปืนแล้วละครับ เพราะหากเราไม่มีปืน เราก็คงไม่เข้าช่วยเหลือ / เข้าจับกุม และอาจเกิดผลร้ายกับเหยื่อของคนร้ายได้ครับ. เขาคงไม่รอดครับ.ส่วนที่ว่าจะยิงคนร้ายก่อนได้ไหม ผมตอบไม่ได้ ต้องดูพฤติการณ์ เป็นเรื่องๆไป ยกตัวอย่าง เช่นไปเจอเหตุการณ์คนร้ายกำลังเอาปืนจี้คนขายในร้านทองอยู่พอดี คนร้าย ๒ -๓ คน ล้วนมีปืนครบมือทุกคน คลุมหน้าตา กรณีอย่างนี้ เชื่อได้เลยว่า หากเราเรียกคนร้ายหันมาเจอเรา ต้องยิงเราแน่ ไม่ปล่อยไว้ และพฤติการณ์ที่คนร้ายกำลังเอาปืนจ่อ ไปที่เจ้าของร้านทอง ถือเป็นภยันตรายอันละเมิดต่อกฎหมายที่ใกล้จะถึงที่เกิดกับเจ้าของร้านทองแล้วละครับ เรายิงได้ทันทีเลย เป็นป้องกันสิทธิของเจ้าของร้านทองครับตาม มาตรา ๖๘ ได้ครับ
อีกตัวอย่างหนึ่ง สมมุติว่าเราไปเจอคนร้ายกำลังยิงคนอยู่ ถือว่า กรณีอย่างนี้เกิดภยันตรายอันละเมิดต่อกฎหมายที่ใกล้จะถึง หรือถึงแล้ว
แก่เหยื่อเคราะห์ร้ายคนนั้นแล้วละครับ เจอแบบนี้เรายิงโจรได้เลย เป็นการป้องกันสิทธิของเหยื่อรายนั้นได้ครับ ตามมาตรา ๖๘
เพราะถ้าเราไม่ยิง คนร้ายมันก็ต้องยิงเหยื่อตายครับ ซึ่งเป็นหลักการเดียวกันกับกรณีที่มีคนเอาปืนมาจ้องเล็งกำลัง จะยิงเรา เราก็ยิงสวนตอบโต้ไปได้ ถ้าไม่ยิงเราก็ตาย ส่วนอันนั้น หากเราไม่ยิง เหยื่อเคราะห์ร้ายก็ต้องตาย หลักป้องกันเดียวกันครับ ไม่ว่าป้องกันสิทธิของตนเองหรือ
สิทธิของผู้อื่น. เป็นการอธิบายโดยใช้หลักกฎหมายและแนวคำพิพากษาศาลฎีกาครับ ไม่ถูกใจ ไม่เห็นด้วยยังไง ก็ยินดีน้อมรับฟังครับ
เพราะยังไง เมื่อมีคดีเกิดขึ้น ก็ต้องให้ศาลเป็นผู้วินิจฉัยครับ ซึ่งศาลก็ต้องใช้หลักการหรือหลักกฎหมายแบบเดียวกันกับที่อธิบายมานี่แหละครับ
รวมทั้งหลักอ้างอิงตามแนวคำพิพากษาศาลฎีกาปรับเทียบเคียงไปด้วยครับ เรื่องยิงคนร้ายหากเป็นป้องกันที่พอสมควรแก่เหตุตาม มาตรา ๖๘ แล้ว ก็ไม่ต้องกลัวครับ แม้ลูกกระสุนจะพลาดไปโดนใคร ก็ตามเจตนาป้องกันนี้มันโอนไปด้วยครับ เรื่องนี้ก็เคยมีคำพิพากษา ศาลฎีกาตัดสินไว้เป็นบรรทัดฐานแล้ว ตามนี้ครับ
ฎีกาที่ ๒๐๕ / ๒๕๑๖ ผู้ตาย ผู้เสียหาย และจำเลยร่วมดื่มสุราด้วยกัน จนเมา แล้วจำเลยกับผู้ตายทะเลาะกัน ผู้เสียหายจึงชวนจำเลยกลับบ้าน ผู้ตายตามมาต่อยและเตะจำเลยจนล้ม ลุกขึ้นมาก็ยังถูกเตะอีก เมื่อผู้ตาย เตะอีก จำเลยก็ใช้มีดปลายแหลมที่ติดตัวไป แทงสวนผู้ตายไป ๒ – ๓ ครั้งถูกผู้ตาย ระหว่างนั้นผู้เสียหายเข้าขวางเพื่อห้ามจึงถูกมีดได้รับบาดเจ็บ ส่วนผู้ตายถึงแก่ความตาย การกระทำของจำเลยต่อผู้ตายเป็นการกระทำโดย ป้องกันพอสมควรแก่เหตุ แม้จะพลาดไปถูกผู้เสียหายเข้า ซึ่งตามประมวล กฎหมายอาญา มาตรา ๖๐ จะถือว่าจำเลยมีเจตนาแทงผู้เสียหายก็ดี แต่การกระทำ ของจำเลยก็เป็นผลสืบเนื่องมาจากจำเลยแทงผู้ตาย เพื่อป้องกันสิทธิพอสมควรแก่เหตุ อันไม่เป็นความผิด จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานทำร้ายผู้เสียหายด้วย
ฎีกาที่ ๘๕๓๔ / ๒๕๔๔ จำเลยใช้ปืนยิงขึ้นฟ้า เพื่อขู่มิให้กลุ่มวัยรุ่น รุมทำร้าย เมื่อจำเลยยิงปืนขึ้นฟ้านัดที่ ๓ แล้ว ได้มีกลุ่มวัยรุ่น เข้ามาทุบที่ด้านหลังของจำเลย จนเป็นเหตุให้จำเลยล้มลงและกระสุน จากปืนที่จำเลยถืออยู่ได้ลั่นขึ้น ๑ นัด ถูกผู้เสียหายซึ่งขับ รถจักรยานยนต์ผ่านมาได้รับอันตรายแก่กายและถูกผู้ตายซึ่งนั่งซ้อนท้าย ถึงแก่ความตายพฤติการณ์ของจำเลยดังกล่าว เป็นเหตุการณืที่เกิดขึ้นต่อเนื่องเชื่อมโยงกัน จึงย่อมถือได้ว่าเป็น การกระทำเพื่อป้องกันสิทธิของตนและของผู้อื่น ให้พ้นภยันตราย ซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายและเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง ทั้งเป็นกรณีที่จำเลยกระทำพอสมควรแก่เหตุ แม้การกระทำของจำเลย ก่อให้เกิดผลร้ายแก่ผู้เสียหายและผู้ตายโดยพลาดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๖๐ จำเลยก็ไม่มีความผิด เพราะการกระทำของจำเลยเป็นการป้องกัน
โดยชอบด้วยกฎหมายตาม มาตรา ๖๘

ปัญหาเรื่องว่า ราษฎรธรรมดา มีสิทธิจับคนร้ายที่ทำผิดซึ่งหน้า มีคำพิพากษาศาลฎีกา ตัดสินรองรับไว้แล้วครับ คือ

ฎีกาที่ ๑๓๔๘ / ๒๔๙๖ ราษฎรมีสิทธิจับผู้ที่ยิงคนบาดเจ็บต่อหน้าตนได้ เมื่อผู้ถูกจับชักมีดจะทำร้าย ผู้จับ ( ราษฎร ) เข้าปล้ำต่อสู้แย่งมีดได้แล้ว แทงผู้ถูกจับ ๑ ที ผู้ถูกจับตาย เป็นการป้องกันตัวพอสมควรแก่เหตุ ..
ฎีกาที่ ๕๗๕ / ๒๔๘๗ คนตายเป็นคนร้ายที่ลักม้าผู้อื่นไป จำเลยตามไปพบ
จะเข้าจับกุม คนตายขัดขืนเอามีดแทง จำเลยจึงใช้มีดของตนฟันคนร้าย แล้วจับไปส่งผู้ใหญ่บ้าน แต่ต่อมาเสียชีวิตลง เป็นป้องกันพอสมควรแก่เหตุ ไม่มีความผิด